ความระยิบระยับอันน่าหลงใหลของ LAB GROWN DIAMOND

ในเช้าอันหมองหม่นของเดือนมกราคมปี 2019 Meghan Markle กำลังเดินอยู่บนถนนในลอนดอนเพื่อไปประชุม เธอสวมเสื้อโค้ทและรองเท้ารัดส้น ซึ่งกลับไม่ได้ดึงดูดสายตาผู้คนเท่ากับ “ต่างหูเพชรแท้จากแล็บ” ของเธอ

Sidney Neuhaus ผู้ร่วมก่อตั้ง Kimaï ซึ่งเป็นบริษัทที่ผลิตเพชรดังกล่าวใช้เวลาเพียงห้าวันในการทำเพชรให้กับ Markle เธอและ Jessica Warch ผู้ร่วมก่อตั้งอีกคนอาศัยอยู่ในเมืองแอนต์เวิร์ป ประเทศเบลเยี่ยม เมืองหลวงที่โด่งดังเรื่องเพชรที่สุดของโลก เธอเติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่ทำธุรกิจเพชร พ่อของเธอเป็นเจ้าของร้านเพชร ส่วนปู่ของเธอก็ยังทำงานให้กับ De Beers ซึ่งเกี่ยวกับเพชรหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

แม้จะมีประวัติครอบครัวที่โด่งดังในด้านการค้า แต่ Neuhaus และ Warch ก็เลือกที่จะให้ความสนใจในเพชร Lab Grown Diamond เนื่องจากการขุดหาเพชรนั้นต้องสูญเสียทั้งทรัพยากรธรรมชาติและมีปัญหาเชิงมนุษยธรรม จริงอยู่ที่คนรุ่นมิลเลนเนียลและคนเจนเนอเรชั่น Z เป็นผู้ซื้อสำคัญในตลาดเพราะพวกเขามักเลือกซื้อแหวนเพชรแต่งงานซึ่งมาจากเหมือง แต่ตอนนี้เกือบ 70% ของคนรุ่นมิลเลนเนียลกำลังพิจารณาซื้อ Lab Grown Diamond แทน

แล้วเพชรแท้จากแล็บคืออะไร และมันเป็นทางเลือกที่ยั่งยืนกว่าเพชรที่ขุดได้แบบดั้งเดิมจริงหรือ?

อันดับแรก เพชรแท้จากแล็บ หรือ Lab grown diamond จะมีคุณลักษณะทางเคมี, ทางกายภาพและแสงเหมือนกับเพชรแท้ทุกประการ เพชรตามธรรมชาตินั้นถูกหล่อหลอมขึ้นภายใต้แรงกดทับและความร้อนมหาศาลของชั้นเนื้อโลกที่อยู่ลึกลงไปใต้ดินประมาณ 100 ไมล์ ส่วนใหญ่ก่อตัวขึ้นระหว่าง 1 พันล้านถึง 3 พันล้านปีซึ่งเป็นช่วงเวลาที่โลกของเราร้อนกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

Lab grown diamond นั้นถูกสร้างขึ้นโดยใช้แรงดันและความร้อนสูงโดยเครื่องจักร

มี 2 วิธีในการทำเพชร Lab Grown Diamond  ซึ่งกระบวนการทั้ง 2 เกี่ยวข้องกับการเริ่มต้นด้วย “เมล็ดเพชร” เพชรแท้จากแล็บถูกสร้างขึ้นโดยใช้ระบบ High-Pressure High Temperature (HPHT) ซึ่งเมล็ดจะถูกวางไว้ท่ามกลางคาร์บอนกราไฟต์บริสุทธิ์ที่อุณหภูมิประมาณ 1,500 องศาเซลเซียส และความดันประมาณ 1.5 ล้านปอนด์ต่อตารางนิ้ว

และไม่นานมานี้ ได้มีการค้นพบการทำเพชร Lab Grown Diamond อีกวิธี ซึ่งเรียกว่า Chemical Vapor Deposition (CVD) โดยนำเมล็ดเพชรไปไว้ในห้องที่ปิดสนิทซึ่งเต็มไปด้วยก๊าซที่มีคาร์บอนสูงและให้ความร้อนที่อุณหภูมิประมาณ 800 องศาเซลเซียส โดยจะแบ่งพันธะโมเลกุลของก๊าซอันทำให้คาร์บอนบริสุทธิ์ไปเกาะตัวกับเมล็ดเพชรและค่อยๆตกผลึก

LAB  GROWN DIAMOND  ถูกสร้างขึ้นโดยใช้แรงดันและความร้อนสูงภายในเครื่องจักร

เทคโนโลยีในการผลิตนั้นมีความก้าวหน้าที่โดดเด่นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้บริษัทต่างๆ สามารถผลิตเพชรคุณภาพสูงขึ้นได้อย่างรวดเร็วด้วยราคาที่ถูกลง มันหมายถึงการแข่งขันจะสูงขึ้นระหว่างบริษัททำเพชร Lab Grown Diamond และบริษัทที่ขุดหาเพชรแบบดั้งเดิม ตามรายงานที่จัดทำโดย Antwerp World Diamond Centre (AWDC)ในปี 2019 ระบุว่า การผลิตเพชร CVD lab-grown มีค่าใช้จ่ายประมาณ 300 ถึง 500 ดอลลาร์ต่อกะรัต ซึ่งถ้าเทียบกับเพชรแท้จะอยู่ที่ 4,000 ดอลลาร์ต่อกะรัต

เพชรแท้จากแล็บมีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็ว ผู้ซื้อเพชรรุ่นใหม่มักถูกดึงดูดด้วยราคา, ความโปร่งใสและให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น โดยตลาดส่วนนี้คาดว่าจะเพิ่มขึ้น15% ถึง 20% ต่อปี และตามรายงานของ AWDC ระบุว่าการเติบโตดังกล่าวจะดำเนินต่อไปเนื่องจากผู้ค้าอัญมณีเริ่มหันมาขายเพชรแท้จากแล็บมากขึ้น

การเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

เพชรแท้จากแล็บนั้นก็ไม่ได้สมบูรณ์แบบซะทีเดียวเพราะการขาดความโปร่งใสอย่างชัดเจนทำให้ยากต่อการจัดหาข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อเปรียบเทียบคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของเพชร Lab Grown Diamond  แต่พลังงานที่จำเป็นในการผลิตเพชรในห้องแล็บนั้นมีความสำคัญ รายงานหนึ่งในหัวข้อนี้จัดทำโดย Diamond Producers Association ชี้ให้เห็นว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ผลิตเพชรธรรมชาติจากการทำเหมืองนั้นน้อยกว่าการทำเพชรในห้องแล็บถึงสามเท่า เป็นที่น่าสังเกตว่า DPA เป็นตัวแทนของบริษัทขุดเพชรรายใหญ่ที่สุดของโลก 7 แห่ง ซึ่งรวมถึง De Beers, Alrosa และ Rio Tinto

อย่างไรก็ตาม บริษัทเพชร Lab Grown Diamond บางแห่งได้รับการเตือนจาก Federal Trade Commission จากสหรัฐอเมริกาให้ระมัดระวังกับการระบุว่า “เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” โดยไม่มีหลักฐานยืนยันคำกล่าวอ้างเหล่านี้ บริษัทต่างๆ รวมถึง Ada Diamonds และ Diamond Foundry ที่ได้รับการสนับสนุนจาก Leonardo DiCaprio ในสหรัฐอเมริกาก็เป็นหนึ่งในนั้นเช่นกัน

ตัวเลขที่เผยแพร่โดย Diamond Foundry ชี้ให้เห็นว่าคาร์บอนฟุตปรินท์โดยรวมของเพชรที่ขุดได้นั้นสูงกว่าเพชรที่ผลิตในห้องแลบอยู่มาก “การขุดหาเพชรใต้ดินจำเป็นต้องใช้พลังงานมากกว่าการสร้างเพชร Lab Grown Diamond …นอกจากนี้ พลังงานที่ใช้ในการขุดคือน้ำมันดีเซลอีกด้วย” พวกเขากล่าวเสริม

ดินประมาณ 250 ตันเคลื่อนตัวต่อเพชรทุกกะรัต และมีเพชรกว่า 148 ล้านกะรัตถูกขุดในปี 2018 รวมถึง เหมืองบางแห่งมีขนาดใหญ่มากจนสามารถมองเห็นได้จากอวกาศโดยใช้ดาวเทียม Terra ของ Nasa

บริษัทที่ปรึกษาด้านธุรกิจ Frost & Sullivan ให้ความเห็นว่าเพชรที่ขุดได้ต้องใช้พลังงานต่อกะรัตมากกว่าเพชรแท้จากแล็บถึงสองเท่า หรือก็คือคาร์บอน 57 กก. ถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศสำหรับทุกกะรัตที่ขุดได้ แต่เพชรแท้จากแล็บจากปล่อยคาร์บอนออกมาน้อยกว่า 2-3 กรัม และมีการใช้พลังงานหมุนเวียนทดแทน